วันศุกร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2555

คำพ่อสอน




 "คำพ่อสอน-ความสุขในการดำเนินชีวิต"
 การประมวลพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชที่พระราชทานในโอกาสต่างๆ ในช่วงเวลาอันยาวนานกว่า ๖ ทศวรรษที่ผ่านมา ที่ผู้รวบรวมเห็นว่าเป็นไปเพื่อการสร้างความสุขในการดำเนินชีวิต พระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสเหล่านี้มีความลึกซึ้งกว้างขวางเกี่ยวข้องในทุกปริมณฑลของมนุษย์ คือ ทั้ง กาย-จิต-สังคม-สิ่งแวดล้อม

 ความสุขด้านกาย

 . . .ชีวิตของแต่ละคนจะต้องประกอบด้วยสิ่งใดสำหรับให้มีชีวิตอยู่ได้ ถ้าเราคิดสักหน่อยว่าเรามีร่างกายที่จะต้องอุ้มชูตนเอง คือหมายความว่าทุกวันนี้เราจะต้องหาอาหารมาเลี้ยง ถ้าไม่มีอาหารเลี้ยงร่างกายนี้เป็นเวลาหนึ่ง ก็ทำให้ ร่างกายซูบผอมและอ่อนเพลียลงไป ไม่มีทางที่จะทำงานทำการใดๆ หรือแม้จะทำงานที่ไม่ใช่เป็นงานคือเล่นสนุกอะไรก็ตาม ก็ไม่ได้ทั้งนั้น คิดอะไรก็ไม่ออก ดำเนินชีวิตไม่ได้ ถ้าไม่มีอาหาร ถ้ามองดูในแง่นี้เพียงอาหารที่มาใส่ท้อง ก็เป็น กิจการที่กว้างขวางอย่างมากมาย ทีนี้พูดกันว่าคนเราต้องทำมาหากิน ดูเป็นของ ที่สำคัญที่สุด เพราะว่าถ้าไม่ทำมาหากินก็ไม่มีชีวิตอยู่ได้ หรือมีชีวิตก็แร้นแค้น และทุกข์ทรมานอย่างยิ่ง นอกจากนี้ก็ยังมีอาหารใจอีก ถ้าคนเราไม่มีอาหารใจไม่ขวนขวายหาความรู้ จะไม่สบายใจ และจะไม่เป็นคนที่เจริญ ฉะนั้น ทุกคนที่ ต้องการที่จะมีชีวิตอยู่ และมีชีวิตอยู่อย่างดี ก็ต้องอุ้มชูให้อาหารแก่ตาและหาทาง ที่จะมีอาหารของใจด้วย. . .

พระราชดำรัส
พระราชทานเนื่องในการฉลองครบรอบ ๕๐ ปี ของสโมสรโรตารี่ในประเทศไทย
ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร
วันจันทร์ที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๒๓


  •  คนเรานั้นต้องรู้จักทำมาหากินเลี้ยงชีพของตน เลี้ยงร่างกายของตนเพื่อที่จะได้มีกำลังในการทำงานต่างๆต่อไปได้และยังมีอาหารใจ ถ้าคนเราไม่มีอาหารใจไม่ขวนขวายหาความรู้ ก็จะเป็นผู้ไม่เจริญคนเราจึงต้องมีทั้งอาหารตาและอาหารใจควบคู่กันไปด้วย

   . . .ร่างกายของเรานั้น ธรรมชาติสร้างมาสำหรับให้ออกแรงใช้งาน มิใช่ ให้อยู่เฉยๆ ถ้าใช้แรงให้พอเหมาะพอดีโดยสม่ำเสมอ ร่างกายก็เจริญแข็งแรง คล่องแคล่ว และคงทนยั่งยืน. ถ้าไม่ใช้แรงเลย หรือใช้ไม่เพียงพอ ร่างกายก็จะเจริญแข็งแรงอยู่ไม่ได้ แต่จะค่อยๆ เสื่อมไปเป็นลำดับ และหมดสมรรถภาพไปก่อนเวลาอันสมควร. ดังนั้น ผู้ที่ปรกติทำการงานโดยไม่ได้ใช้กำลัง หรือใช้กำลังแต่น้อย จึงจำเป็นต้องหาเวลาออกกำลังกายให้พอเพียงกับความต้องการตามธรรมชาติเสมอทุกวัน. มิฉะนั้น จะเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ที่เขาจะใช้สติปัญญาความสามารถของเขาทำประโยชน์ให้แก่ตนเองและแก่ส่วนรวมได้น้อยเกินไปพราะร่างกายอันกลับกลายอ่อนแอลงนั้น จะไม่อำนวยโอกาสให้ทำ การงานโดยมีประสิทธิภาพได้. . .
 
ความสุขด้านจิต

      . . .สุขภาพจิตและสุขภาพกายนั้น พูดได้ว่าสุขภาพจิตสำคัญกว่าสุขภาพกายด้วยซ้ำ เพราะว่าคนไหนที่ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงแต่จิตใจฟั่นเฟือน ไม่ได้เรื่องนั้น ถ้าทำอะไรก็จะยุ่งกันได้ กายที่แข็งแรงนั้นก็จะไม่เป็นประโยชน์ต่อตนเองหรือสังคมอย่างใด ส่วนคนที่สุขภาพกายไม่สู้จะแข็งแรงแต่สุขภาพจิตดี หมายความว่าจิตใจดี รู้จักจิตใจของตัว และรู้จักปฏิบัติให้ถูกต้อง ย่อมเป็นประโยชน์ต่อตัวเองมาก และเป็นประโยชน์ต่อสังคมได้มาก ในที่สุดสุขภาพจิต ที่ดีก็อาจจะพามาซึ่งสุขภาพทางกายได้ หรือถ้าสุขภาพกายไม่ดีนักก็ไม่ต้องถือว่า เป็นของสำคัญ. . .


พระราชดำรัส
ในโอกาสที่คณะจิตแพทย์ นักวิชาการสุขภาพจิต
อาจารย์จากมหาวิทยาลัย และผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันต่างๆ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
ณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์
วันอังคารที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๐ 

  • จิตใจของคนเรานั้นมีความสำคัญ ถ้ามีจิตใจดี รู้จักจิตใจของตนเอง และรู้จักปฏิบัติให้ถูกต้อง ย่อมเป็นประโยชน์ต่อตนเองมาก และเป็นประโยชน์ต่อสังคมได้มากเช่นกัน

   . . .ถ้าเรามาสัมมนาถึงวิธีการที่จะศึกษาสุขภาพจิต ก็ควรจะศึกษาว่า ทำอย่างไรจึงให้ตนเองมีสุขภาพจิตที่ดี เป็นคนที่มีเมตตา มีความละมุนละไม มีความคิดที่รอบคอบ ที่ไม่มีโทสะ ไม่มีความรู้สึกที่จะหาประโยชน์มากเกินไป อันนี้ก็จะทำให้ผู้ที่มาสัมมนามีสุขภาพจิตที่ดี ถ้าใครมีสุขภาพจิตดีแล้ว ไม่ต้องไปสอนใคร แสดงด้วยตนเองก็ได้ประโยชน์มากแล้ว ถ้าหาวิธีที่จะสอนคนอื่นในเรื่องสุขภาพจิตก็ออกจะลำบากเพราะว่าสุขภาพจิตมันอยู่ที่จิตของตัว ฉะนั้นที่จะมีข้อสังเกตในโอกาสนี้ก็คือขอให้ท่านทั้งหลายตั้งสุขภาพจิตของท่านเองให้ดี แล้วก็จะสำเร็จประโยชน์ทุกอย่าง. . .


พระราชดำรัส
ในโอกาสที่คณะจิตแพทย์ นักวิชาการสุขภาพจิต
อาจารย์จากมหาวิทยาลัย และผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันต่างๆ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
ณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์
วันอังคารที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๐

  • การจะทำงานใดๆก็ควรทำจิตใจของตนเองให้ดีเสียก่อน แล้วการทำงานต่างๆก็จะประสบผลสำเร็จได้ทุกประการ 
ความสุขของการอยู่ร่วมกัน

      . . .ท่านทั้งหลายควรจักได้เตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อม ที่จะปฏิบัติงานประสานกับบุคคลอื่นฝ่ายอื่นอย่างขะมักเขม้นและฉลาดเหมาะสม. ในการนี้ ท่าน จะต้องทำความคิดและจิตใจให้เปิดกว้าง แต่หนักแน่น มีเหตุผล มีวิจารณญาณ. พร้อมกันนั้น ก็ต้องมีความจริงใจ เห็นใจ และเมตตาปรองดองกัน โดยถือประโยชน์ส่วนรวมร่วมกันเป็นวัตถุประสงค์เอก ที่สำคัญอีกข้อหนึ่ง จะต้องพยายามขจัดความดื้อรั้น ถือตัว ความเห็นแก่ตัว เห็นแก่ประโยชน์ส่วนน้อยออกให้ได้ ไม่ปล่อยให้เข้ามาครอบงำทำลายความคิดจิตใจที่ดีงามของตน  แล้วท่านจะสามารถปฏิบัติการงานทุกอย่างได้ด้วยความราบรื่น เบิกบานใจ อย่างมี ประสิทธิภาพ และประสบผลสำเร็จตามที่ปรารภปรารถนาทุกสิ่งในที่สุด. . .

 
พระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร แก่บัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันเสาร์ที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๒๙
 
  • การทำงานร่วมกับผู้อื่นนั้นต้องเปิดใจให้กว้างหนักแน่นมีเหตุผลมีวิจารณญาณ ความจริงใจ ลดความเห็นแก่ตัวลงเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมให้มากก็จะสามารถปฏิบัติงานร่วามกับผู้อื่นได้อย่างราบรื่นและประสบผลสำเร็จ 
. . .ถ้าเราแผ่เมตตาให้คนอื่นหรือมีปรารถนาดีต่อผู้อื่น เข้าใจว่าคนนั้น หรือบุคคลอื่นจะรู้สึก ต้องรู้สึกว่ามีปรารถนาดีต่อผู้อื่นต่อบุคคลนั้นขึ้นในใจ ของเราก็ต้องรู้สึกว่ามีคนอื่นมาปรารถนาดีต่อเรา ฉะนั้นเป็นการยืนยันว่า การปรารถนาดีต่อผู้อื่นทำให้ผู้อื่นปรารถนาดีต่อเรา และปรารถนาดีต่อเรา อันนี้เองที่เป็นความสุข. . .


พระราชดำรัส
พระราชทานแก่ผู้นำลูกเสือชาวบ้านกรุงเทพมหานคร
ณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์
วันเสาร์ที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๑

  • การที่เรามีความปรารถนาดีต่อผู้อื่นทำให้ผู้อื่นปรารถนาดีต่อเราเช่นกัน และจะทำให้เรามีความสุขขึ้นในใจและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข


ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ http://www.kamphorsorn.org

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น